กฎหมายจราจร

                                                           ความหมายของกฎจราจร

          กฎจราจร คือ ส่วนหนึ่งของกฎหมายจราจร ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการบังคับควบคุมการจราจรให้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความ เป็นระเบียบกฎหมายจราจรที่ใช้เป็นหลักในประเทศ ก็ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 องค์ประกอบของกฎหมายจราจร มี 6 อย่างดังนี้
          1. ตัวบทกฎหมาย ซึ่งจะกำหนด สิทธิ และ หน้าที่ของผู้ใช้รถและใช้ถนนผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

          2. ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ได้แก่ คนขับรถทุกชนิด(รวมถึงคนนั่งหรือซ้อนรถด้วย) คนที่ต้องใช้ถนน (เดินเท้าข้ามถนน จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์)

          3. ผู้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ เจ้าพนักงานจราจร พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน ฯลฯ

          4. เครื่องมือในการใช้บังคับ ได้แก่ เครื่องหมายจราจร และสัญญาณจราจร ฯลฯ

          5. เครื่องมือในการจับกุม ได้แก่ เครื่องจับความเร็ว เครื่องตรวจแอลกอฮอล์เครื่องตรวจวัดควัน เครื่องตรวจวัดเสียง เครื่องตรวจวัดฟิล์มกรองแสง ฯลฯ

          6. วิธีการบังคับหรือการลงโทษ ได้แก่ การว่ากล่าวตักเตือน การเปรียบเทียบปรับ การลงโทษจำคุก การพักใช้ใบอนุญาตขับรถ การเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

                                          พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522

 ซึ่งมีลักษณะต่างๆดังนี้

         ลักษณะ 1 การใช้รถ บอกถึงการขับขี่ซึ่งแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้

                          หมวด 1 ลักษณะของรถที่ใช้ในทาง

                          หมวด 2 การใช้ไฟหรือเสียงสัญญาณของรถ

                          หมวด 3 การบรรทุก

          ลักษณะ 2 สัญญาณจราจร บอกถึงการปฏิบัติต่อสัญญาณและเครื่องหมายจราจรต่างๆ

          ลักษณะ 3 การใช้ทางเดินรถ บอกถึงการขับขี่ซึ่งแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้

                          หมวด 1 การขับรถ

                          หมวด 2 การขับแซงและผ่านขึ้นหน้า

                          หมวด 3 การออกรถ การเลี้ยวรถและการกลับรถ

                          หมวด 4 การหยุดรถและจอดรถ

         ลักษณะ 4 การใช้ทางเดินรถที่จัดเป็นช่องเดินรถประจำทาง บอกถึงการให้ใช้ช่องทางเดินรถให้ถูกต้องของรถประจำทางและห้ามรถประเภทอื่นเข้ามาใช้ช่องทางเดินรถประจำทาง

         ลักษณะ 5 ข้อกำหนดเกี่ยวกับความเร็ว บอกถึงการใช้ความเร็วของรถตามที่กำหนดไว้

         ลักษณะ 6 การขับรถผ่านทางร่วม บอกถึงข้อปฏิบัติของการขับรถผ่านทางร่วม ทางแยก หรือวงเวียน

         ลักษณะ 7 รถฉุกเฉิน บอกถึงข้อปฏิบัติเมื่อบุคคลต้องขับรถฉุกเฉินและข้อปฏิบัติเมื่อพบรถฉุกเฉิน

         ลักษณะ 8 การลากรถ หรือการจูงรถ บอกข้อปฏิบัติในการลากหรือจูงรถ

         ลักษณะ 9 อุบัติเหตุ บอกถึงข้อปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น

         ลักษณะ 10 รถจักรยาน บอกข้อปฏิบัติของผู้ที่ขับขี่รถจักรยาน

         ลักษณะ 11 รถบรรทุกคนโดยสาร บอกข้อปฏิบัติของผู้ที่ขับขี่รถบรรทุกคนโดยสาร

         ลักษณะ 12 รถแท็กซี่ บอกข้อปฏิบัติในการขับขี่ของผู้ที่ขับรถแท็กซี่

         ลักษณะ 13 คนเดินเท้า บอกถึงข้อปฏิบัติของคนเดินเท้า

         ลักษณะ 14 สัตว์ และสิ่งของในทาง บอกถึงข้อปฏิบัติของการจูง ไล่ต้อนสัตว์ หรือการปฏิบัติกับสิ่งของบนทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวาง

        ลักษณะ 15 รถม้า เกวียน และเลื่อน บอกถึงข้อปฏิบัติของผู้ที่ใช้รถม้า เกวียน และเลื่อน

        ลักษณะ 16 เขตปลอดภัย บอกถึงข้อปฏิบัติเขตปลอดภัย

        ลักษณะ 17 เบ็ดเตล็ด บอกถึงข้อปฏิบัติที่นอกเหนือจากลักษณะต่างๆข้างต้น

        ลักษณะ 18 อำนาจของเจ้าพนักงาน บอกถึงข้อปฏิบัติและอำนาจของเจ้าพนักงานจราจร และพนักงานเจ้าหน้าที่

        ลักษณะ 19 บทกำหนดโทษ บอกถึงบทลงโทษเมื่อบุคคลฝ่าฝืนกฎ